อจ.ตุ้ม กับดร.ปวิน อินแอล.เอ. :ถกทางแก้สิทธิมนุษยชนไทย

อจ.ตุ้ม กับดร.ปวิน อินแอล.เอ. :ถกทางแก้สิทธิมนุษยชนไทย

คัดลอกจากต้นฉบับ http://www.thaienews.blogspot.com/2013/10/blog-post_6925.html

วันพุธ, ตุลาคม 16, 2556

อจ.ตุ้ม กับดร.ปวิน อินแอล.เอ. :ถกทางแก้สิทธิมนุษยชนไทย

 
 
รายงานโดย ระยิบ เผ่ามโน
 
อจ.ตุ้มยืนยันไทยมีหลักการสิทธิมนุษยชนสากลแล้วในรัฐธรรมนูญครบทั้ง ๕ ภาคส่วน แต่กลับสร้างกรอบพิเศษของวัฒนธรรมแบบไทยๆ ขึ้นมาละเมิดหลักการเหล่านั้น ดร.ปวินเสริมว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยเกิดจากหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่แปลกแยกต่อระบบชนชั้นที่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย
 
ด้านทางแก้ อจ.ตุ้มแนะให้ปลูกฝังจิตสำนึกแห่งสิทธิมนุษยชนนับแต่ระดับครอบครัวเป็นต้นไป ต้องหลุดพ้นจากการดูถูก แบ่งแยก และข่มเหงผู้อื่น ส่วนดร.ปวินบอกว่าต้องสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ประชาชนพึ่งตนเองในการรักษาสิทธิ กับต้องทำให้กลุ่มประชาสังคม-เอ็นจีโอมีความเข้มแข็ง และมีจิตสำนึกในการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
 
เมื่อราวเที่ยงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ (ตามเวลาท้องที่) ในมหานครลอส แองเจลีส ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ นครซาน ฟรานซิสโก จัดให้มีการสัมมนาปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยโดยสองนักวิชาการชาวไทยผู้เป็นที่รู้จักดีในหมู่ชาวไทยที่รักประชาธิปไตย คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดสงวน สุธีสร หรือที่เรียกกันติดปากว่า อาจารย์ตุ้ม แห่งคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับรองศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งศูนย์ศึกษาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต โดยมี ดร.เพียงดิน รักไทย แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กลี่ย์ แคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
 
รายการเสวนาเริ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันแล้ว คุณพอล ภูวดล พิธีกรนำเข้าสู่การเสวนาในภาคภาษาอังกฤษ โดย ดร.เพียงดิน รักไทย เป็นผู้กล่าวถ้อยแถลงในนามของภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือชื่อทางการว่า Thai Alliance for Human Rights (TAHR) โดยชี้แจงถึงการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยองค์กรนี้ในการประสานกับองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ แต่เน้นที่การติดตาม และตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นสำคัญ
 
 
ดร.เพียงดินยังได้รายงานความคืบหน้าของการจัดประกวด บทความเข้าแข่งขันชิงรางวัลชนะเลิศ ๑ แสนบาทโดยภาคีไทยฯ ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดแล้วกว่า ๓๐ ราย หากแต่ทางภาคีฯ มีผู้แสดงความจำนงอุปถัมภ์รางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรางวัลชมเชยจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาทไทยมีถึง ๒๐ รางวัล ส่วนรางวัลชนะเลิศ ๑ แสนบาทนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อุปถัมภ์
 
ด้วยเหตุนี้ทางภาคีฯ จึงยืดเวลารับผลงานออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนพฤษจิกายน โดยกำหนดการตัดสินตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้แต่เดิมในปลายปีนี้ แล้วจะประกาศผลในงานส่งท้ายปีเก่าของภาคีตอนสิ้นปี ๒๕๕๖
 
ดร.ปวิน ขึ้นกล่าวเป็นคนต่อไปได้เพียงสองสามนาฑีก็มีโทรศัพท์จาก ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานจัดงาน ๔๐ ปี ๑๔ ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในประเทศไทย ตามที่นัดหมายไว้ เนื้อความในการโฟนอินของดร.จรัลเป็นเวลาประมาณ ๑๕ นาฑี กล่าวถึงอุดมการณ์ ๑๔ ตุลา เพื่อประชาธิปไตยเป็นหลักใหญ่
 
จากนั้น ดร.ปวินกลับมาแถลงต่อ โดยมีเนื้อหาตรงกับการเสวนาในภาคภาษาไทยที่ปรากฏในบทความนี้ตอนท้าย เช่นเดียวกับที่ ดร.สุดสงวน ขึ้นมาแถลงในภาคภาษาอังกฤษ ต่อด้วยตัวแทนผู้สนับสนุนอุดมการณ์ ๑๔ ตุลา ในท้องที่ลอส แองเจลีส ขึ้นกล่าวแสดงการรำลึกเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ตามด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ร่วมงานจำนวนร้อยกว่าคนจุดเทียนสดุดี ด้วยการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา ๑ นาฑีโดยพร้อมเพรียงกัน
 
การเสวนาเริ่มด้วย ดร.เพียงดิน ตั้งคำถามแก่สองวิทยากรถึงความหมาย และขอบข่ายแห่งสิทธิมนุษยชนสากลที่อนุสนธิ์กับสภาพสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ อันเป็นปัญหา พร้อมทั้งขอความเห็นเป็นทางออกเพื่อให้ประเทศไทยได้มีการปฏิบัติเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์
 
อจ.ตุ้มกล่าวว่าหลักสิทธิมนุษยชนในปฏิญญาสากล ๓๐ ข้อนั้นมีบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยครบถ้วนแล้ว โดยกระจายกันอยู่ใน ๕ หมู่ ได้แก่ ด้านสิทธิพลเมือง ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง-การปกครอง แต่เมืองไทยเรากลับสร้างกรอบของตนเองเสียใหม่ทั้งในทางกฏหมาย กลไก (ระเบียบปฏิบัติ) และวัฒนธรรม เลยกลับกลายเป็นการละเมิดหลักการต้นตำรับไป
 
ดร.สุดสงวน สุธีสร เสนอทางออกคร่าวๆ เพื่อปรับแก้การปฏิบัติเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า คนไทยควรที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกเกี่ยวกับบุคคลกันเสียใหม่ การแบ่งพวก การดูถูกผู้อื่น และการข่มเหงกันและกันนั้นต้องเลิกคิดอย่างเด็ดขาด แล้วสร้างจิตสำนึกในทางบวกมาแทนที่ โดยเริ่มชี้แนะ และปลูกฝังกันจากภายในครอบครัวก่อนเป็นปฐม แล้วจึงขยายออกไปในสังคม ตามด้วยการแก้ไขตัวบทกฏหมาย และปรับการบังคับใช้ต่อไป
 
สำหรับ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นั้น เนื้อหาของการปาฐกถาสรุปได้เป็นลายลักษณ์อักษรดังนี้
 
๑.     อะไรคือ ‘สิทธิมนุษยชน’
 
สิทธิมนุษยชนมีหน้าที่สำคัญสองประการ ได้แก่ เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยจัดระเบียบทางวัฒนธรรม และสังคม ที่ใดประชาชนตระหนักถึง และปฏิบัติเคร่งครัดในการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน ย่อมนำไปสู่การสร้างระเบียบอันสถาพรในชาติ กับก่อให้เกิดสันติในหมู่ปวงชน ลดความขัดแย้งในสังคมโดยรวมได้อย่างดี
 
นอกจากนี้หลักสิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีเชื้อชาติ ไม่ต้องการสัญชาติ เพราะมีความเป็นสากลอยู่เต็มเปี่ยมแล้ว พลเมืองทุกคนในประชาคมโลกย่อมได้รับการปกป้องสิทธิส่วนตนเสมอภาคกัน อันเป็นการตอกย้ำความเท่าเทียมของแต่ละบุคคลในสังคมที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
 
ประเทศไทยของเรายังมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่มากมาย ในโสตหนึ่งมีเหตุมาจากหลักการสิทธิมนุษยชนสากลเป็นแนวคิดที่แปลกแยก และซ้ำร้ายเป็นศัตรูกับระบบชนชั้นที่ฝังรากลึกอยู๋ในสังคมไทย แม้นว่าเรามีกลุ่มประชาสังคม กับองค์กรพลเรือน หรือเอ็นจีโอ แต่ว่ากลุ่มเหล่านี้กลับทำตนเป็นตัวแทน และเป็นปากเสียงให้แก่ชนชั้นนำในสังคมไทยไปเสียฉิบ
 
 
นั่นเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจต่อหลักสิทธิมนุษยชนกันมากนัก แถมองค์กรซึ่งมีหน้าที่โดยตรงตามรัฐธรรมนูญในการดูแลเรื่องนี้ นั่นคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยเฉพาะ ศจ. ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการเองก็ไม่ได้ประพฤติไปในทางที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงนับว่า กสม. ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในภารกิจของตน
 
๒.     ความเป็นไทยกับสิทธิมนุษยชน
 
คนจำนวนไม่น้อยมองว่าความเป็นไทยเป็นมรดกตกทอดเฉพาะตัว ติดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นข้อกำหนดบังคับพฤติกรรมของสมาชิกสังคมให้อยู่แต่ในกรอบเดิมๆ คร่ำครึ ประจวบกับระบบอำนาจนิยมผูกขาดในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมแบบบังคับประชาชนให้ต้องพึ่งพาชนชั้นนำ ทำให้การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริบทถูกต้องตามสากลเป็นไปได้ยาก ประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญในภาคประชาชนแก่ความมั่นคงแห่งมนุษย์อย่างจริงจังเลย
 
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ปรากฏอย่างชัดเจนในกรอบการเมืองนั้นก็คือ ประเด็นกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หรือที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกในนามกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันทางการเมืองอย่างป่าเถื่อน และต่อเนื่อง มีการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่ยอมให้ประกันตัวสู้คดี แล้วยังมักตัดสินจำคุกอย่างน้อยสามปี อย่างดีถึงยี่สิบ ล่าสุดได้มีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือล้างแค้นต่อกันเป็นส่วนตัว ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง
 
๓.     ก้าวต่อไปควรทำอย่างไร
 
ดร.ปวินบอกว่าจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่ประชาชนต้องพึ่งตนเองเป็นหลักใหญ่ ไม่ใช่การพึ่งพาบารมี หรือรอคอยการยื่นให้จากชนชั้นนำ ควรต้องปลูกฝังความคิดอิสระในหมู่คนรุ่นใหม่ให้รู้จักรักษาสิทธิของตนเองเป็นสรณะ
 
ในแง่ของกฏหมายก็ถึงเวลาแล้วจะต้องพิจารณาแก้ไขตัวบทกฏหมายที่ล้าหลัง และไม่เป็นธรรม อย่างกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ทั้งนี้เพราะประชาชนไม่อาจมุ่งหวังความช่วยเหลือจาก กสม. และไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมจากตุลาการได้
 
นอกจากนี้ควรต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มประชาสังคม และกลุ่มเอ็นจีโอ พร้อมทั้งผ่าตัดเปลี่ยนสำนึกองค์กรเอกชนทั้งหลายให้ยืนหยัดอยู่กับการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ดร.ปวินกล่าวว่าเหล่านี้ถ้าทำได้สำเร็จไม่เพียงแต่จะยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติได้เท่านั้น มันยังเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาประชาธืปไตยไทยให้สมบูรณ์ต่อไปได้ด้วย
 
เสร็จจากการเสวนาของสามวิทยากรแล้ว ได้มีการประกาศตัวคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของภาคีฯ และมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการะ ปิดท้ายงานด้วยการปราศรัยของประธานคณะกรรมการอำนวยการของภาคีฯ นายเอนก ชัยชนะ
 
หมายเหตุ ท่านที่สนใจฟังการถ่ายทอดรายการทั้งหมด กรุณาดาวน์โหลดได้ที่ งานเสวนาปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย นครลอส แองเจลีส ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๖   ความยาวประมาณ ๔ ชั่วโมงครึ่ง mp3 size 31,622 Kb length 04:29:49
 
 

Leave a comment